- ยุคที่ 1 มหากาฬ
ยุคนี้อยู่ในช่วงของรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปราบดาภิเษก คือปราบกบฎที่ก่อความเดือดร้อนให้บ้านเมือง และสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงถูกพวกกบฎจับกุมคุมขังและยึดอำนาจ ฐานวิกลจริต (คือถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้าเสียสติ)ด้วยการนำไปประหารชีวิตด้วยท่อนจันทน์ (แต่หลายคนเชื่อว่าหนีมาบวชที่ถ้ำเขาขุนพนม จ.นครศรีฯ )
รัชกาลที่ ๑ ทรงตั้งตนเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในการนี้ทำให้ผู้ที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าตาก และผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมไปถึงผู้ที่เสียผลประโยชน์ เกิดแข็งข้อ ไม่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี ไม่ยอมรับว่างั้นเถอะ จึงได้มีพระบรมราชโองการปราบพวกไม่เห็นด้วย หรือพวกกบฎต่อแผ่นดินใหม่ให้ราบคาบ มีการสังหารล้างโคตรกันทีเดียว ถึง ๘๒ ครัวเรือน รวมทั้งมีการประหารชีวิตโอรส และญาติพี่น้องพระเจ้าตากสินมิให้หลงเหลือเพื่อเป็นเส้นหนามในภายหลัง กล่าวกันว่าเสียชีวิตจากการเปลี่ยนแผ่นดินไม่ตำกว่า 400 คน มีการประกาศใช้กฎปราบกบถ กฎมณเทียรบาล และกฎอัยการศึก ชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งเป็นเรื่องหวาดเสียว น่ากลัวมาก เพราะบ้านเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ (คือสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงใหม่) ยังระส่ำระสาย หาความเป็นปึกแผ่นมั่นคงไม่ได้ จึงต้องทำทุกอย่างด้วยความเฉียบขาด จึงเรียกยุคนี้ว่า "ยุคมหากาฬ" หรือ"ยุคดำมืด" เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่า "บ้านเมืองใหม่จะอยู่หรือจะไป" ยิ่งมีสงคราม ๙ ทัพ จากพวกคุณหม่องมาสั่นประสาทชาวบ้านด้วยแล้ว ใครเกิดยุคนี้ล่ะก็ ร้องได้คำเดียวว่า "กลัวแล้วจ้า" (เพราะคนไทยยังไม่หายเข็ดกลัวพม่ายังไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำและขุนนาง เพราะสร้างความเหลวแหลกไว้เยอะในตอนก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา)
นับได้ว่าเป็นยุคอึมครึม มืดดำ จริงๆ ไม่รู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ พระเจ้าตากเสียสติจริงหรือไม่? ถูกประหารชีวิตหรือไม่? ด้วยเหตุใด? เป็นยุคมืดที่น่ากลัวจริงๆ
การปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์
เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) กำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎร และข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติ วันนี้ถือเป็นวันสถาปนามหาจักรีบรมราชวงศ์
เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัว”
สงครามเก้าทัพเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 3 ปี ในสงครามนี้ข้าศึกได้ยกกำลังพลประมาณ 144,000 คน เพื่อพิชิตไทยให้ได้ ถ้าเราพ่ายแพ้ก็ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก ดังนั้นสงครามครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของเมืองไทย
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพไปทางเมืองกาญจนบุรี ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัดสกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่ายกลงมาจากภูเขา เพื่อไม่ให้ทัพพม่าลงมาหาเสบียงอาหารได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสียงอาหารของพม่า นอกจากนั้นยังลวงพม่าโดยถอนกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามา เสมือนว่ามีกำลังเพิ่มเติมเข้ามาเสมอ เมื่อทำให้กองทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหาร และครั่นคร้ามกองทัพไทยมากแล้ว จึงโจมตีทัพที่ 4 และทัพที่ 5 ของพม่า และได้ชัยชนะโดยง่าย พระเจ้าปะดุงเห็นว่าถ้าสู้รบต่อไปคงไม่ชนะไทยจึงยกทัพกลับ
หลังจากพ่ายแพ้ไทยกลับไป พระเจ้าปะดุง ได้รวบรวมกำลังตีไทยในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2329 โดยครั้งนี้ได้รวมกำลังเป็นทัพใหญ่ทัพเดียว พร้อมจัดหาเสบียงอาหารให้บริบูรณ์ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วตั้งทัพที่ท่าดินแดง เมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดห้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพหน้า พระองค์เป็นแม่ทัพหลวง ทัพทั้งสองไปโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน สู้รบกันเพียง 3 วัน ทัพพม่าก็แตกพ่ายไป
สงครามเก้าทัพและสงครามที่ต่อเนื่อง คือ สงครามท่าดินแดง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้
1. เป็นสงครามใหญ่ที่ข้าศึกมีกำลังมากกว่าไทยถึง 2 เท่าเศษ แต่ไทยมีชัยชนะต่อข้าศึกอย่างงดงาม โดยเปลี่ยนยุทธวิธีจากการตั้งรับที่ราชธานี เป็นไปตั้งรับที่เขตชายแดน ชัยชนะในสงครามดังกล่าวทำให้ข้าศึกไม่ได้ยกกองทัพใหญ่มาโจมตีราชธานีของไทยอีกเลย และไทยได้ตอบโต้ไปโจมตีข้าศึกในเวลาต่อมา
2. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแสดงพระราชปณิธานในการปกครองประเทศให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
“ ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาแลมนตรี ”
หมายถึงจะทรงอุปถัมภกหรือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ป้องกันบ้านเมือง ทำให้ราษฎร และขุนนางทั้งหลายร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเวลาต่อมาได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกให้มีความถูกต้อง ทรงปกป้องและขยายพระราชอาณาเขต ทรงชำระกฎหมายตราสามดวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในบ้านเมือง ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีและทรงบำรุงอักษรศาสตร์ จนทำให้ราษฎรทั้งหลายมีขวัญและกำลังใจดีในการประกอบอาชีพ มีชีวิตอย่างปลอดภัย ประเทศมีความมั่นคงและรุ่งเรืองสืบต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น