รัชกาลที่ 7




  • ยุคที่ 7 ชนร้องทุกข์
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดเป็นยุคที่ผู้คนพลเมืองต้องประสบกับภาวะ "ข้าวยากหมากแพง" ผู้คนอดอยาก แร้นแค้นด้วยสภาวะเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และผลสืบเนื่องมาจากการฟุ้งเฟ้อในรัชกาลก่อน มีการปลดข้าราชการออกเพราะไม่มีเงินเบี้ยหวัด เงินปีให้ เป็นสมัยที่เริ่มให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงร้องทุกข์ แสดงความคิดเห็นจนกระทั่งมีการกระทำที่รุนแรงถึงขั้นปฏิวัติยึดอำนาจ ให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ มาเป็นประชาธิปไตย จนในที่สุดพระองค์ต้องทรงสละราชสมบัติ และเสด็จไปสวรรคต ณ ต่างประเทศ



การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
 ภายหลังการปฏิรูปการปกครองและการปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีกระแสความคิดที่จะให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีรัฐสภาเป็นสถาบันหลักที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้มีคณะนายทหารชุดกบฏ ร.ศ.130 ซึ่งมีความคิดที่ปฏิบัติการให้บรรลุความมุ่งหมายดังกล่าว แต่ไม่ทันลงมือกระทำการก็ถูกจับได้เสียก่อนเมื่อ พ.ศ.2454 ในต้นรัชกาลที่ 6  
  ความจริงแล้วสังคมไทยเริ่มปรับตัวให้เข้ากับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 และกับประเทศอื่นๆในภาคพื้นยุโรปอีกหลายประเทศ และทรงเปิดรับรับประเพณีและวัฒนธรรมของตะวันตก เช่น การจ้างชาวตะวันตกให้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวัง การให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า การอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพร้อมกับขุนนางข้าราชการไทยในงานพระบรมราชาภิเษก เป็นต้น


 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายปลดปล่อยไพร่ให้เป็นอิสระและทรงประกาศเลิกทาสให้เป็นไทแก่ตนเอง พร้อมกันนั้นยังทรงปฏิรูปการศึกษาตามแบบตะวันตก เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถึงขั้นอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย บุตรหลานขุนนาง หรือราษฎรสามัญชนที่พ้นจากความเป็นไพร่หรือทาส ถ้าบุคคลใดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็จะมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศตะวันตกโดยพระบรมราชานุเคราะห์จากผลการปฏิรูปการศึกษา ทำให้คนไทยบางกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก เริ่มรับ เริ่มรับเอากระแสความคิดเกี่ยวกับการเมืองสมัยใหม่ ที่ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากตะวันตก และมีความปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกคราองเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากคำกราบบังคมทูลถวายถึงความคิดเห็นในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะเจ้านายและข้าราชการใน พ.ศ.2427 (ร.ศ.103) หรือการเรียกร้องให้มีการปกครองในระบบรัฐสภาของ “เทียนวรรณ” (ต.ว.ส. วัณณาโภ) ในหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้น และกระแสความคิดนี้ก็ดำเนินสืบเนื่องมาโดยตลอดในหมู่ผู้นำสมัยใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก และจากผู้ที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตก
  จากพระบรมราชธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของพระองค์ว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีการปกครองตามระบอบรัฐสภา พระองค์จึงไม่ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรัฐสภาและมีรัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ก็ทรงยอมรับว่า การปกครองของประเทศจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่จะมีรัฐสภาและรัฐธรรมนูญในภายหน้า ถึงกับมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า "ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์กล่าวคือ ฉันจะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อนำเข้าประชุมอภิรัฐมนตรีสภา พร้อมบันทึกความเห็นของนายสตีเวนส์และพระยาศรีวิศาลวาจา ซึ่งมีความเห็นว่ายังไม่ควรใช้ระบอบการปกครองโดยรัฐสภาในตอนนั้นเนื่องจากประชาชนยังไม่พร้อม  ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เตรียมการไว้ ก็ยังไม่ถึงประชาชนในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ก่อการปฏิวัติภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่เจ้า เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน กลับคืนสู่พระนครแล้ว คณะราษฎรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรบางคนได้ร่างเตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระปรมาภิไธย พระองค์ได้พระราชทานกลับคืนมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้มีพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้มีชื่อเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น