- ยุคที่ 2 พาลยักษ์
เป็นช่วงในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นยุคแห่งความวิบัติเคราะห์ร้าย ของผู้คนในแผ่นดิน เนื่องจากเกิดอหิวาตโรค (โรคห่า โรคท้องร่วง) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ โรค ได้ระบาดไปทั่วเมือง มีผู้คนล้มตายลงวันละมากๆ เพราะการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่เจริญ ตามสุสานวัดสำคัญต่าง ๆ เช่น วัดสระเกศ , วัดบพิตรพิมุข เต็มไปด้วยซากศพผู้เสียชีวิต ในแม่น้ำลำคลองก็ยังมีซากศพลอยขึ้นอืดกันให้เกลื่อน เป็นที่อุจาดตาส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้ง น่าสะอิดสะเอียนเป็นยิ่งนัก ถนนหนทางมีแต่ความเงียบสงัดวังเวง ผู้คนต่างหลบซ่อนอยู่ภายในบ้าน บางครอบครัวก็อพยพหลบหนีโรคร้ายไปอยู่เสียหัวเมือง ในการนี้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๒ ถึงกับรับสั่งให้ทำพระราชพิธียิงปืนใหญ่รอบกำแพง พระบรมมหาราชวัง ๑ คืน (เป็นความเชื่อที่ว่า โรคห่า เกิดจากการกระทำของยักษ์มาร ภูติผีปีศาจ จึงต้องมีพิธีการสวดมนต์ ปัดรังควาน ยิงปืนใหญ่ขับไล่ ให้มันตกใจกลัวจะได้หนีไป ทำคล้ายกับพิธีสวดภาณยักษ์ หรือสวดอาฎานาฎิยปริตร ) ทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตอันศักดิ์สิทธิ์ และพระบรมธาตุออกแห่แหน เป็นการขับไล่และปลอบขวัญพลเมือง ในที่สุดโรคร้ายก็สงบ แต่กว่าจะสงบราบคาบประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตถึงสามหมื่นคนทีเดียว นับว่าไม่น้อยเลยสำหรับในสมัยนั้น
พระราชพิธีอาพาธพินาศ
พระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นพระราชพิธีที่เกิดขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในพุทธศักราช ๒๓๖๓ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วพระนคร มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพแทบไม่ทัน ศพกองสุมกันอยู่ที่วัดสระเกศ และมีอีแร้งลงมาจิกกินเป็นที่น่าสังเวชใจเป็นอย่างมาก จนมีคำกล่าวว่า "แร้งวัดสระเกศ"
มีจดหมายเหตุเล่าถึงการะบาดของอหิวาตกโรคในครั้งนั้นว่า
...คนในกรุงเทพฯ เป็นโรคป่วยใหญ่ ขึ้นตั้งแต่ ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ไปถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายหญิงศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาเดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ด้วยอาเกียรณไปด้วยซากศพ...
พระราชพิธีนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อปลุกปลอบใจราษฎร และเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร โดยประกอบพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคล้ายพระพิธีตรุษ มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบรมสารีริกธาตุออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถพระบรมมหาราชวังแห่รอบพระนคร นับเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรออกจากที่ประดิษฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีการนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช (สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)) และพระสงฆ์รูปอื่น ๆ จำนวน ๕๐๐ รูป สวดพระปริตรประพรมน้ำพระปริตรไปในขบวนแห่นั้นด้วย องค์พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรักษาศีล สละพระราชทรัพย์ ซื้อชีวิตสัตว์สี่เท้าสองเท้า ปล่อยนักโทษ และห้ามราษฎรทำปาณาติบาต หลังพระราชพิธีนี้เสร็จ ฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ อหิวาตกโรคระบาดหนักอยู่ ๑๕ วัน ก็ค่อยหายไป
หลังจากเกิดอหิวาตกโรคในครานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสังเวชสลดพระราชหฤทัยที่กรรมบันดาลให้เกิดภัยพิบัติแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่างหลายประการ
- ยุคที่ 3 รักมิตร
เป็นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การค้าขายกับต่างประเทศ (รัชกาลที่ ๒ ทรงสัพยอกท่านว่า"เจ้าสัว") ได้มีการเริ่มต้นเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศอันได้แก่ อังกฤษ, อเมริกา ฯลฯ โดยเริ่มต้นจากการค้านั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นยุคที่ทรงโปรดปรานชุบเลี้ยงคนที่ตั้งใจทำราชการอย่างจริงจัง มากกว่าพวกประจบสอพลอ
การเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอุทัยราชา ประทับอยู่ที่พนมเปญ เขมรตกอยู่ใต้อำนาจของญวน ครั้นถึง พ.ศ. 2377 สมเด็จพระอุทัยราชาถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกธิดาชื่อ นักองค์มี ให้เป็นเจ้าเมืองพนมเปญโดยตำแหน่ง แต่อำนาจสิทธิ์ขาดตกอยู่กับญวนทั้งสิ้น ส่วนนักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช ที่ไทยสนับสนุนให้ไปครองเมืองพระตะบองเอาใจออกห่างไปขึ้นกับญวน โดยหวังว่าจะได้เป็นกษัตริย์ แต่ญวนไม่สนับสนุน แต่กดขี่ทารุณพระราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่และชาวเขมร
พวกเขมรสุดจะทนได้จึงก่อการกบฏขึ้น ไทยได้ส่ง เจ้าพระยาบดินทรเดชายกทัพไปช่วยนักองค์ด้วง ( น้องของสมเด็จพระอุทัยราชา )รบกับญวนในดินแดนเขมรนานถึง 14 ปี กองทัพไทยไม่สามารถตีเมืองพนมเปญได้เพราะทัพเรือของญวนมีกำลังเหนือกว่าไทยมาก ในปี พ.ศ. 2384 พระเจ้ามินมางกษัตริย์ญวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเถียวตรีได้ครองราชย์สืบต่อมา ญวนเห็นว่าไม่สามารถแปลงเมืองเขมรได้สำเร็จจึงส่ง
นักองค์อิ่ม พระมหาอุปโยราช มาครองเมืองเขมรอยู่ใต้อารักขาของญวน ทำนองเดียวกับ นักองค์ด้วง ครองเมืองเขมรอยู่ในอารักขาของไทย นักองค์อิ่มมาอยู่ที่พนมเปญได้ไม่นานก็เกิดอหิวาตกโรคระบาด ญวนจึงกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เมืองโจดก ไทยจึงได้เมืองพนมเปญและบรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด
เขมรจึงแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ภาคใต้เป็นของนักองค์อิ่ม ภาคเหนือเป็นของนักองค์ด้วง ต่างฝ่ายไม่สามารถปราบปรามกันได้ พ.ศ. 2389 พระเจ้าเถียวตรีกษัตริย์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าตือดึกได้ขึ้นครองราชย์ต่อ นักองค์อิ่มที่ญวนสนับสนุนอยู่ก็สิ้นพระชนม์ลงอีก ญวนจึงขอเจรจาหย่าศึก โดยญวนขอให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการต่อญวนเหมือนสมัยพระนารายณ์ราชา ทางไทยตอบตกลง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงถอยทัพกลับในปี พ.ศ. 2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้จัดการอภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณฯ ครองกรุงกัมพูชาสืบมา เป็นอันว่าไทยได้เขมรกลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้ง ต่อมาสมเด็จพระหริรักษ์ฯ เจ้ากรุงกัมพูชาได้ส่งนักองค์ราชาวดี (สมเด็จพระนโรดม กษัตริย์เขมรองค์ต่อมา ) ราชบุตรเข้ามารับราชการที่กรุงเทพ และต่อมายังส่งนักองค์ศรีสวัสดิ์ ( สมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์เขมรต่อจากพระนโรดม ) และ นักองค์วัตถาราชบุตรองค์รองเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ อีกด้วย นักองค์ด้วงรู้สึกทราบซึ้งในคุณงามความดีของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่ช่วยปลดแอกชาวเขมรให้รอดพ้นจากการกดขี่ของญวน จึงได้สร้างศาลตั้งรูปปั้นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ไว้ที่เมืองอุดงลือชัย เพื่อเป็นที่สักการะของชาวเขมร คนทั้งหลายเรียกศาลนี้ว่า “ศาลองค์บดินทร”
ลาวกับไทย
ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ มีอำนาจเหนือนครจำปาศักดิ์ เพราะไทยสนับสนุนให้เจ้าโย้ ราชบุตรเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองจำปาศักดิ์ อิทธิพลของเจ้าอนุวงศ์จึงลงมาถึงลาวตอนใต้ เจ้าอนุวงศ์ไม่พอใจในรัชกาลที่ 3 อันเนื่องจากเจ้าอนุวงศ์ทูลขอชาวลาวที่ไทยกวาดต้อนมาในสมัยกรุงธนบุรี กลับไปเวียงจันทน์แต่ไทยไม่ให้ เจ้าอนุวงศ์ขอละครไปแสดงที่เวียงจันทน์ไทยก็ไม่ให้ ทำให้เจ้าอนุวงศ์ไม่พอใจ จึงหันไปฝักใฝ่ญวนเพราะอยากได้อิสรภาพจากไทยประกอบกับเจ้าอนุวงศ์ได้ข่าวลือว่าอังกฤษยกทัพเรือมาตีไทย เจ้าอนุวงศ์จึงคิดกบฏต่อไทยโดยยกทัพมากวาดต้อนผู้คนที่เมืองนครราชสีมาและสระบุรี รัชกาลที่ 3 โปรดฯให้พระยาราชสุภาวดี ( เจ้าพระยาบดินทรเดชา ) ยกทัพไปปราบศึกครั้งนี้
เจ้าอนุวงศ์สู้ไม่ได้จึงหนีไปพึ่งญวน ทำให้ไทยกับญวนต้องหมองหมางกัน สงครามระหว่างไทยกับลาว ในครั้งนี้ได้กำเนิดวีรสตรีของไทยขึ้นคือ ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น